บริการสืบค้น

Custom Search
  สถานที่ตั้งของวัด
     วัดสวนดอกตั้งอยู่เลขที่  139  ถนนสุเทพ  ตำบลสุเทพ  อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  โดยตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก    1 กิโลเมตร   อยู่ฝั่งตรงข้ามกับคณะทันตแพทย์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ภายในบริเวณวัดเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่


พื้นที่ของวัด
วัดสวนดอกมีเนื้อที่ประมาณ  35 ไร่
นามเดิมของวัดสวนดอก
      วัดสวนดอกนามเดิมมีว่า วัดบุปผาราม  ซึ่ง พระราชทานนาม โดยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช  ทรงพระราชทานพระราชอุทยานสวนดอกไม้สร้างวัด   ตามตำนานเดิมกล่าวว่าบริเวณที่เป็นอุทยานดอกไม้นั้น เต็มไปด้วยต้นพะยอม  จึงเป็นที่มาของนามเดิม วัดสวนดอก      โดยคำว่า   บุปผา     ซึ่งเป็นภาษาบาลี   แปลว่า  สวนดอกไม้    ต่อมาชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า   วัดสวนดอก
ประวัติวัดสวนดอก
           วัดสวนดอกเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่ง ของเมืองเชียงใหม่   สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช  ซึ่งเป็นกษัตริย์ลำดับที่   6  ของราชวงศ์เม็งราย  แห่งอาณาจักรล้านนา    โดยพระเจ้ากือนา  ทรงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเพราะทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากโดยตำนานเดิมกล่าวว่า  พระองค์ทรงสร้างเพื่อถวายแก่พระสุมนะเถระ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชประทับอยู่ที่วัดนี้  พระสุมนะเถระได้ถวายพระบรมสารีริกธาตุแก่พระเจ้ากือนา  ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุได้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยองค์หนึ่งประดิษฐานที่วัดสวนดอก    ส่วนอีกองค์หนึ่งได้ประดิษฐานที่วัดพระธาตุดอยสุเทพนอกจากนี้   พระองค์ทรงสร้างวัดสวนดอกขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และพระพุทธศาสนิกชน   ต่อมาในสมัยที่นครเชียงใหม่ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงรัตนโกสินทร์      เชียงใหม่จึงอยู่ในฐานะเปรียบเสมือนเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย   ทางรัฐบาลได้เห็นความสำคัญจึงส่งเสริมในด้านกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาโดยได้ยกย่องชมเชย วัดสวนดอก ว่าบรรยากาศภายในวัดสวยงาม จึงได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างจากรมการศาสนา  เมื่อปีพ.ศ.2509  และในวันที่ 10 กรกฎาคม 2533 ก็ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ

โบราณสถานและโบราณวัตถุ ภายในวัดสวนดอก

        วัดสวนดอกเป็นแหล่งโบราณวัตถุที่สำคัญมากมายได้แก่
     ๑.  พระพุทธประธาน  เป็นพระพุทธรูปปั้นแบบปางมารวิชัย พระพุทธประธานนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เมื่อประมาณปี  พ.ศ.1917-1920 ประดิษฐานในพระวิหารหลวงของวัดสวนดอก



      ๒.   พระพุทธรูปองค์ยืน    กล่าวกันว่าสร้างขึ้นในสมัยครูบาศรีวิชัย  ยอดนักบุญแห่งล้านนา  โดยครูบาศรีวิชัยได้สร้างขึ้นเมื่อครั้งท่านได้บูรณะพระวิหารวัดสวนดอกเพื่อให้เป็นพระพุทธรูปปางเพ่งอนิมิสเจดีย์ พระพุทธรูปองค์ยืนนี้ได้ตั้งอยู่ด้านหลังขององค์พระประธาน

       ๓.   พระเจ้าค่าคิง       พระเจ้ากือนา ทรงโปรดให้สร้างขึ้นด้วยทองสัมฤทธิ์  พระเจ้าค่าคิงเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ  มีขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนา   โดยมีหน้าตักกว้าง 2 เมตร  สูง  2.5  เมตร     ตามตำนานล้านนากล่าวว่า    สร้างขึ้นโดยพระบัญชาของพระราชมารดาของพระเจ้ากือนา  เมื่อครั้งที่พระเจ้ากือนา   ทรงพระประชวรหนักและ ก็เป็นที่มาของพระนามของพระพุทธรูป    พระเจ้าค่าคิงประดิษฐานด้านหน้าพระประธานในพระวิหารหลวง
      ๔.    พระเจ้าเก้าตื้อ      เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์    ศิลปะแบบเชียงแสน ฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัยปางมารวิชัย  หน้าตักกว้าง  3  เมตร  สูง  4.70 เมตร ใช้ทองมีน้ำหนัก 9  ตื้อ สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว  พ.ศ.  2047  เพื่อเป็นพระประธานในวิหารวัดพระสิงห์วรมหาวิหารเมื่อหล่อเสร็จไม่สามารถชักลากเข้าเมืองได้จึงประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดสวนดอก   กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่ 52  ตอนที่  75  ลงวันที่  8  มีนาคม  พ.ศ. 2478




โบราณสถานที่สำคัญ
        ๑ .    อนุสาวรีย์(กู่)ที่บรรจุอัฐิเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่         ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์จนถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายและพระประยูรญาติในตระกูล ณ เชียงใหม่  สร้างประมาณพ.ศ.2452 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา   เล่มที่ 52   ตอนที่ 75ลงวันที่ 8  มีนาคม  พ.ศ. 2478
        ๒.   เจดีย์อนุสาวรีย์(กู่) บรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย       สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2490  เพื่อเป็นอนุสรณ์ในคราวที่ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนาได้บูรณปฏิสังขรณ์  วัดสวนดอกและเพื่อให้ปุถุชนได้สักการบูชา


        ๓.    ธรรมาสน์เทศนาแบบล้านนา    ซึ่งเป็นธรรมาสน์ศิลปะแบบล้านนาที่งดงามใช้สำหรับเทศนาธรรมแบบล้านนาในเทศกาลต่างๆ  เช่นเทศน์มหาชาติตั้งธรรมหลวง ฯลฯ

        ๔.   ซุ้มประตูวัด    มีจำนวนทั้งหมด3ซุ้มซึ่งเป็นซุ้มปราสาทแบบล้านนาขนาดใหญ่สร้างขึ้นสมัยครูบาศรีวิชัยได้บูรณะวัดสวนดอก  เมื่อพ.ศ.2474


อาคารเสนาสนะในวัดสวนดอก

          ๑ .    พระวิหารหลวง      พระวิหารหลวงมีขนาดกว้าง  12 วา 2 ศอก   ยาว   33  วาสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2474  สร้างขึ้นโดยครูบาศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐ   เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ  เป็นวิหารโล่ง ไม่มีผนังแต่มีระเบียงโดยรอบ  หน้าบันทั้ง 2  ด้านมีลายปูนปั้นเครือเถาศิลปะแบบล้านนาที่สวยงาม      พระวิหารหลวงนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา    เล่มที่  52  ตอนที่  75  ลงวันที่8  มีนาคม  พ.ศ.2478
         ๒ .     พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ     เป็นพระอุโบสถกว้าง  12   เมตรยาว  27   เมตร   สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2047  เป็นอาคารคอนกรีตก่ออิฐถือปูน ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านนาโดยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุด เมื่อพ.ศ. 2505   ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังโดยจิตรกรรุ่นใหม่เกี่ยวกับพุทธประวัติและเวสสันดรชาดก
         ๓ .   หอฉัน   เป็นอาคารชั้นเดียว กว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตรภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับ เรื่องพระเจ้าสิบชาติ   หอฉันนี้สร้างใน ปีพ.ศ.  2519
       
          ๔.    ศาลาการเปรียญ       เป็นอาคารทรงไทยแบบก่ออิฐถือปูน  สร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ.2532   เป็นศาลากว้าง  7  เมตร   ยาว  27  เมตร    สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระครูสุคันธศีล  (คำแสน อินทจกโก ) 
          ๕.    อาคารเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยวิทยาเขตเชียงใหม่ (อาคาร1)    เป็นอาคาร3ชั้นกว้าง20เมตรยาว40เมตร สร้างเสร็จเมื่อปีพ.ศ.2536
           ๖.    อาคารเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ อาคาร ช้อย  นันทาภิวัฒน์  (อาคาร2)      เป็นอาคาร 4 ชั้น กว้าง 10 เมตร  ยาว 40 เมตรสร้างเสร็จเมื่อพ.ศ.2538
           ๗.   อาคารสถาบันวิทยาบริการ( อาคาร ธีระศักดิ์ ไพโรจน์สถาพร)  เป็นอาคารแบบ 3 หลัง สร้างเมื่อปีพ.ศ.2539
           ๘.    ศาลาอเนกประสงค์สมโภชนครเชียงใหม่ 700 ปี   เป็นอาคาร  2  ชั้น ขนาดกว้าง 8  เมตร ยาว  30  เมตร    สร้างเมื่อพ.ศ. 2538 
            ๙.   กุฏิสงฆ์      สร้างขึ้นในบริเวณวัดเพื่อเป็นที่พักของพระสงฆ์มีจำนวนทั้งสิ้น 21 หลังกุฏิสงฆ์  มีลักษณะพิเศษคือ ศาลาฝาไหลซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ

 รายนามเจ้าอาวาสวัดสวนดอก
 เจ้าอาวาสวัดสวนดอกรูปปัจจุบัน คือ..ท่านเจ้าคุณพระอมรเวที

ตั้งอยู่ที่ ถนนวัวลาย ตำบลหายยา สร้างขี้นเมือพุทธศักราช 2043 รัฐสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์ในราชวงค์มังราย และทำการผูก พันธสีมาพระอุโบสถ พุทธศักราช 2052 ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของคณะสงฆ์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปาฏิหารย์ (พระเจ้า 500 ปี) ของวัดศรีสุพรรณมาโดยตลอด และอุโบสถหลังนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม และจะได้มีการสร้างอุโบสถใหม่เป็นอุโบสถเงิน 


อยู่ถนนราชภาคินัย อำเภอเมือง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 พระองค์ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ฐานช้างล้อม พระอุโบสถ และหอไตร และที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยม และมีช้างล้อมที่ฐานหมายความว่าคำจุนพระพุทธศาสนาไว้ 
ประวัติความเป็นมาของวัดเชียงมั่นที่ปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก คือ หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ สำเร็จในปี พ.ศ.1839 แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่หอนอนบ้านเชียงมั่นซึ่งพญามังรายทรงสร้างเป็นที่ประทับชั่วคราว ในระหว่างที่ควบคุมการสร้างเมืองใหม่โดยให้ชื่อที่ประทับแห่งนั้นว่า "เวียงเล็ก" หรือ "เวียงเหล็ก" หมายถึง "ความมั่นคงแข็งแรง" ต่อมาเมื่อพญามังรายเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานแห่งใหม่ซึ่งเรียกว่า "เวียงแก้ว" (ปัจจุบันคือเรือนจำกลางเชียงใหม่) แล้ว ทรงอุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็กถวายแด่พระศาสนา โดยตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกและพระราชทานนามอันเป็นมงคลว่า "วัดเชียงมั่น" หมายถึง "บ้านเมืองที่มีความมั่นคง"
ทั้งนี้ศิลาจารึกวัดเชียงมั่นพุทธศักราช 1839 จารึกไว้ว่า "ศักราช 658 ปีรวายสัน เดือนวิสาขาออก 8 ค่ำ ขึ้น 5 ไทยเมืองเปล้า ยามแตรรุ่งแล้ว สองลูก นาฑี ปลายสองบาทน้ำ ลัคคนาเสวยนวางค์ประหัส ในมีนยะราศี พญามังรายเจ้า พญางำเมือง พญาร่วง ทังสามคน ตั้งหอ นอนในที่ไชยภูมิ ราชมณเฑียร ขุดคือก่อตรีบูรทั้งสี่ด้านและก่อเจติยะทัดที่นอนบ้านเชียงมั่น ในขณะยาม เดียวนั้น ที่นั้นลวดสร้างเป็นวัด หื้อทานแก่แก้วทังสามใส่ชื่อว่าวัดเชียงหมั้น ต่อบัดนี้ ..." จึงนับได้ว่าวัดเชียงมั่นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ต่อมาในปี พ.ศ.2094 เชียงใหม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดเชียงมั่นจึงถูกทอดทิ้งให้เป็นวัดร้าง พ.ศ.2101 เจ้าฟ้ามังทรา (สมเด็จพระมหาธัมมิกะราชาธิราช) แห่งพม่า ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา โปรดให้พระยาแสนหลวงสร้างเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมเสนาสนะกำแพง และประตูโขงขึ้นที่วัดเชียงมั่น โดยมีพระมหาหินทาทิจจวังสะเป็นเจ้าอาวาส
เมื่อถึงสมัยพระยากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2324-2358) ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเชียงมั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่วัดนี้ได้ตกอยู่ในสภาพวัดร้างเมื่อครั้งที่ทำสงครามกอบกู้เอกราชคืนมาจากพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2319 ต่อมาในสมัยของเจ้าอินทวโรรส (พ.ศ.2440-2452) พระพุทธศาสนาแบบธรรมยุกนิกายได้เข้ามาเผยแผ่ในอาณาจักรล้านนา เจ้าอินทวโรสจึงได้นิมนต์พระธรรมยุตมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเชียงมั่นเป็นครั้งแรก ภายหลังย้ายไปอยู่วัดหอธรรมและวัดเจดีย์หลวงตามลำดับนอกจากวัดเชียงมั่นจะเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองแล้ว เมื่อถึงเทศกาลสลากภัตร หรือ ทานก๋วยสลาก จะมีการทานข้าวสลากที่วัดนี้ก่อนแล้วจึงจะทำที่วัดอื่นๆ ต่อไป ในสมัยพญามังราย วัดเชียงมั่นยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้วัดเชียงมั่นยังเป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมาก
โบราณวัตถุที่สำคัญ
พระเสตังคมณี
                                มีชื่อเรียกสามัญว่า “พระแก้วขาว” เป็นพระพุทธรูปทำด้วนแก้วสีขาวขุ่น หินควอตไซท์ (หินเขี้ยวหนุมาน) ตามประวัติกล่าวว่า พระนางจามเทวีเป็นผู้นำมาจากเมืองละโว้ ตอนที่เสด็จมาครองเมืองลำพูน เมื่อคราวที่เมืองลำพูนได้เสียเมืองให้แก่พญาเม็งรายได้ทรงเห็นปาฏิหารย์ความศักดิ์สิทธิ์ ของพระพุทธรูปนี้ จึงได้ทรงศรัทธาเลื่อมใส นำมาเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ตลอดมา จนกระทั่งได้ทรงสร้างวัดเชียงมั่นขึ้นมาเป็นปฐมอารามของเมืองเชียงใหม่ จึงได้โปรดให้นำพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
                                แต่มีระยะหนึ่งประมาณปีรัชกาลของพระไชยเชษฐาหรือเจ้าเชษฐวงศ์ (พ.ศ.2089 – พ.ศ.2091)  ซึ่งเป็นเชื้อสายของกษัตริย์เชียงใหม่ที่อยู่เมืองศรีสัตนาคุนหุต ได้นำเอาพระพุทธรูปที่สำคัญของเชียงใหม่หลายองค์ เช่นพระแก้วมรกต พระแก้วขาว พระพุทธสิหิงค์ ฯลฯ ไปบูชายังเมืองศรีสัตนาคุนหุต และย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เวียงจันทน์ ต่อมาเมื่อพม่าตีได้เมืองเชียงใหม่และเวียงจันทน์ จึงนำเอาพระแก้วขาวกลับมาไว้ที่วัดเชียงมั่นเหมือนเดิม เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ ได้โปรดพระราชทานทองกาไหล่(เงินชุบทอง)  หุ้มพระเศียรและฐานของพระแก้วขาวให้สูงขึ้นอีก พระแก้วขาวจัดเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นหลัง (ศิลปล้านนา)

พระศิลาปางทรมานช้างนาฬาคีรี
                                 เป็นพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินชนวนสีดำ ฝีมือสกุลช่างปาละของอินเดีย (พุทธศตวรรษที่ 13 – 18) แกะสลักตามคติเดิมของอินเดีย เป็นพระพุทธรูปปางหนึ่งแสดงตอนที่ทรงแผ่เมตตาให้กับช้างนาฬาคีรีที่กำลังเมามันจะเข้ามาทำร้ายพระองค์ มีผู้สันนิษฐานว่า พระภิกษุชาวลังกาเป็นผู้นำเข้ามาถวายพญาเม็งราย พญาเม็งรายจึงโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น