บริการสืบค้น

Custom Search


อยู่ถนนราชภาคินัย อำเภอเมือง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 พระองค์ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ฐานช้างล้อม พระอุโบสถ และหอไตร และที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยม และมีช้างล้อมที่ฐานหมายความว่าคำจุนพระพุทธศาสนาไว้ 
ประวัติความเป็นมาของวัดเชียงมั่นที่ปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก คือ หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ สำเร็จในปี พ.ศ.1839 แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่หอนอนบ้านเชียงมั่นซึ่งพญามังรายทรงสร้างเป็นที่ประทับชั่วคราว ในระหว่างที่ควบคุมการสร้างเมืองใหม่โดยให้ชื่อที่ประทับแห่งนั้นว่า "เวียงเล็ก" หรือ "เวียงเหล็ก" หมายถึง "ความมั่นคงแข็งแรง" ต่อมาเมื่อพญามังรายเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานแห่งใหม่ซึ่งเรียกว่า "เวียงแก้ว" (ปัจจุบันคือเรือนจำกลางเชียงใหม่) แล้ว ทรงอุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็กถวายแด่พระศาสนา โดยตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกและพระราชทานนามอันเป็นมงคลว่า "วัดเชียงมั่น" หมายถึง "บ้านเมืองที่มีความมั่นคง"
ทั้งนี้ศิลาจารึกวัดเชียงมั่นพุทธศักราช 1839 จารึกไว้ว่า "ศักราช 658 ปีรวายสัน เดือนวิสาขาออก 8 ค่ำ ขึ้น 5 ไทยเมืองเปล้า ยามแตรรุ่งแล้ว สองลูก นาฑี ปลายสองบาทน้ำ ลัคคนาเสวยนวางค์ประหัส ในมีนยะราศี พญามังรายเจ้า พญางำเมือง พญาร่วง ทังสามคน ตั้งหอ นอนในที่ไชยภูมิ ราชมณเฑียร ขุดคือก่อตรีบูรทั้งสี่ด้านและก่อเจติยะทัดที่นอนบ้านเชียงมั่น ในขณะยาม เดียวนั้น ที่นั้นลวดสร้างเป็นวัด หื้อทานแก่แก้วทังสามใส่ชื่อว่าวัดเชียงหมั้น ต่อบัดนี้ ..." จึงนับได้ว่าวัดเชียงมั่นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ต่อมาในปี พ.ศ.2094 เชียงใหม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดเชียงมั่นจึงถูกทอดทิ้งให้เป็นวัดร้าง พ.ศ.2101 เจ้าฟ้ามังทรา (สมเด็จพระมหาธัมมิกะราชาธิราช) แห่งพม่า ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา โปรดให้พระยาแสนหลวงสร้างเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมเสนาสนะกำแพง และประตูโขงขึ้นที่วัดเชียงมั่น โดยมีพระมหาหินทาทิจจวังสะเป็นเจ้าอาวาส
เมื่อถึงสมัยพระยากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2324-2358) ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเชียงมั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่วัดนี้ได้ตกอยู่ในสภาพวัดร้างเมื่อครั้งที่ทำสงครามกอบกู้เอกราชคืนมาจากพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2319 ต่อมาในสมัยของเจ้าอินทวโรรส (พ.ศ.2440-2452) พระพุทธศาสนาแบบธรรมยุกนิกายได้เข้ามาเผยแผ่ในอาณาจักรล้านนา เจ้าอินทวโรสจึงได้นิมนต์พระธรรมยุตมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเชียงมั่นเป็นครั้งแรก ภายหลังย้ายไปอยู่วัดหอธรรมและวัดเจดีย์หลวงตามลำดับนอกจากวัดเชียงมั่นจะเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองแล้ว เมื่อถึงเทศกาลสลากภัตร หรือ ทานก๋วยสลาก จะมีการทานข้าวสลากที่วัดนี้ก่อนแล้วจึงจะทำที่วัดอื่นๆ ต่อไป ในสมัยพญามังราย วัดเชียงมั่นยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้วัดเชียงมั่นยังเป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมาก
โบราณวัตถุที่สำคัญ
พระเสตังคมณี
                                มีชื่อเรียกสามัญว่า “พระแก้วขาว” เป็นพระพุทธรูปทำด้วนแก้วสีขาวขุ่น หินควอตไซท์ (หินเขี้ยวหนุมาน) ตามประวัติกล่าวว่า พระนางจามเทวีเป็นผู้นำมาจากเมืองละโว้ ตอนที่เสด็จมาครองเมืองลำพูน เมื่อคราวที่เมืองลำพูนได้เสียเมืองให้แก่พญาเม็งรายได้ทรงเห็นปาฏิหารย์ความศักดิ์สิทธิ์ ของพระพุทธรูปนี้ จึงได้ทรงศรัทธาเลื่อมใส นำมาเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ตลอดมา จนกระทั่งได้ทรงสร้างวัดเชียงมั่นขึ้นมาเป็นปฐมอารามของเมืองเชียงใหม่ จึงได้โปรดให้นำพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
                                แต่มีระยะหนึ่งประมาณปีรัชกาลของพระไชยเชษฐาหรือเจ้าเชษฐวงศ์ (พ.ศ.2089 – พ.ศ.2091)  ซึ่งเป็นเชื้อสายของกษัตริย์เชียงใหม่ที่อยู่เมืองศรีสัตนาคุนหุต ได้นำเอาพระพุทธรูปที่สำคัญของเชียงใหม่หลายองค์ เช่นพระแก้วมรกต พระแก้วขาว พระพุทธสิหิงค์ ฯลฯ ไปบูชายังเมืองศรีสัตนาคุนหุต และย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เวียงจันทน์ ต่อมาเมื่อพม่าตีได้เมืองเชียงใหม่และเวียงจันทน์ จึงนำเอาพระแก้วขาวกลับมาไว้ที่วัดเชียงมั่นเหมือนเดิม เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ ได้โปรดพระราชทานทองกาไหล่(เงินชุบทอง)  หุ้มพระเศียรและฐานของพระแก้วขาวให้สูงขึ้นอีก พระแก้วขาวจัดเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นหลัง (ศิลปล้านนา)

พระศิลาปางทรมานช้างนาฬาคีรี
                                 เป็นพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินชนวนสีดำ ฝีมือสกุลช่างปาละของอินเดีย (พุทธศตวรรษที่ 13 – 18) แกะสลักตามคติเดิมของอินเดีย เป็นพระพุทธรูปปางหนึ่งแสดงตอนที่ทรงแผ่เมตตาให้กับช้างนาฬาคีรีที่กำลังเมามันจะเข้ามาทำร้ายพระองค์ มีผู้สันนิษฐานว่า พระภิกษุชาวลังกาเป็นผู้นำเข้ามาถวายพญาเม็งราย พญาเม็งรายจึงโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น