บริการสืบค้น

Custom Search
ตั้งอยู่ที่ ถนนวัวลาย ตำบลหายยา สร้างขี้นเมือพุทธศักราช 2043 รัฐสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์ในราชวงค์มังราย และทำการผูก พันธสีมาพระอุโบสถ พุทธศักราช 2052 ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของคณะสงฆ์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปาฏิหารย์ (พระเจ้า 500 ปี) ของวัดศรีสุพรรณมาโดยตลอด และอุโบสถหลังนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม และจะได้มีการสร้างอุโบสถใหม่เป็นอุโบสถเงิน 


อยู่ถนนราชภาคินัย อำเภอเมือง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 พระองค์ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามให้ชื่อว่า วัดเชียงมั่น วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ คือ พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวเชียงใหม่ มีสถาปัตยกรรมสำคัญ ได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม ฐานช้างล้อม พระอุโบสถ และหอไตร และที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยม และมีช้างล้อมที่ฐานหมายความว่าคำจุนพระพุทธศาสนาไว้ 
ประวัติความเป็นมาของวัดเชียงมั่นที่ปรากฎในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่และพงศาวดารโยนก คือ หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ สำเร็จในปี พ.ศ.1839 แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นตรงที่หอนอนบ้านเชียงมั่นซึ่งพญามังรายทรงสร้างเป็นที่ประทับชั่วคราว ในระหว่างที่ควบคุมการสร้างเมืองใหม่โดยให้ชื่อที่ประทับแห่งนั้นว่า "เวียงเล็ก" หรือ "เวียงเหล็ก" หมายถึง "ความมั่นคงแข็งแรง" ต่อมาเมื่อพญามังรายเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถานแห่งใหม่ซึ่งเรียกว่า "เวียงแก้ว" (ปัจจุบันคือเรือนจำกลางเชียงใหม่) แล้ว ทรงอุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็กถวายแด่พระศาสนา โดยตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกและพระราชทานนามอันเป็นมงคลว่า "วัดเชียงมั่น" หมายถึง "บ้านเมืองที่มีความมั่นคง"
ทั้งนี้ศิลาจารึกวัดเชียงมั่นพุทธศักราช 1839 จารึกไว้ว่า "ศักราช 658 ปีรวายสัน เดือนวิสาขาออก 8 ค่ำ ขึ้น 5 ไทยเมืองเปล้า ยามแตรรุ่งแล้ว สองลูก นาฑี ปลายสองบาทน้ำ ลัคคนาเสวยนวางค์ประหัส ในมีนยะราศี พญามังรายเจ้า พญางำเมือง พญาร่วง ทังสามคน ตั้งหอ นอนในที่ไชยภูมิ ราชมณเฑียร ขุดคือก่อตรีบูรทั้งสี่ด้านและก่อเจติยะทัดที่นอนบ้านเชียงมั่น ในขณะยาม เดียวนั้น ที่นั้นลวดสร้างเป็นวัด หื้อทานแก่แก้วทังสามใส่ชื่อว่าวัดเชียงหมั้น ต่อบัดนี้ ..." จึงนับได้ว่าวัดเชียงมั่นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ต่อมาในปี พ.ศ.2094 เชียงใหม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดเชียงมั่นจึงถูกทอดทิ้งให้เป็นวัดร้าง พ.ศ.2101 เจ้าฟ้ามังทรา (สมเด็จพระมหาธัมมิกะราชาธิราช) แห่งพม่า ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา โปรดให้พระยาแสนหลวงสร้างเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมเสนาสนะกำแพง และประตูโขงขึ้นที่วัดเชียงมั่น โดยมีพระมหาหินทาทิจจวังสะเป็นเจ้าอาวาส
เมื่อถึงสมัยพระยากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2324-2358) ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเชียงมั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่วัดนี้ได้ตกอยู่ในสภาพวัดร้างเมื่อครั้งที่ทำสงครามกอบกู้เอกราชคืนมาจากพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2319 ต่อมาในสมัยของเจ้าอินทวโรรส (พ.ศ.2440-2452) พระพุทธศาสนาแบบธรรมยุกนิกายได้เข้ามาเผยแผ่ในอาณาจักรล้านนา เจ้าอินทวโรสจึงได้นิมนต์พระธรรมยุตมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเชียงมั่นเป็นครั้งแรก ภายหลังย้ายไปอยู่วัดหอธรรมและวัดเจดีย์หลวงตามลำดับนอกจากวัดเชียงมั่นจะเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในเขตกำแพงเมืองแล้ว เมื่อถึงเทศกาลสลากภัตร หรือ ทานก๋วยสลาก จะมีการทานข้าวสลากที่วัดนี้ก่อนแล้วจึงจะทำที่วัดอื่นๆ ต่อไป ในสมัยพญามังราย วัดเชียงมั่นยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้วัดเชียงมั่นยังเป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุจำนวนมาก
โบราณวัตถุที่สำคัญ
พระเสตังคมณี
                                มีชื่อเรียกสามัญว่า “พระแก้วขาว” เป็นพระพุทธรูปทำด้วนแก้วสีขาวขุ่น หินควอตไซท์ (หินเขี้ยวหนุมาน) ตามประวัติกล่าวว่า พระนางจามเทวีเป็นผู้นำมาจากเมืองละโว้ ตอนที่เสด็จมาครองเมืองลำพูน เมื่อคราวที่เมืองลำพูนได้เสียเมืองให้แก่พญาเม็งรายได้ทรงเห็นปาฏิหารย์ความศักดิ์สิทธิ์ ของพระพุทธรูปนี้ จึงได้ทรงศรัทธาเลื่อมใส นำมาเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ตลอดมา จนกระทั่งได้ทรงสร้างวัดเชียงมั่นขึ้นมาเป็นปฐมอารามของเมืองเชียงใหม่ จึงได้โปรดให้นำพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
                                แต่มีระยะหนึ่งประมาณปีรัชกาลของพระไชยเชษฐาหรือเจ้าเชษฐวงศ์ (พ.ศ.2089 – พ.ศ.2091)  ซึ่งเป็นเชื้อสายของกษัตริย์เชียงใหม่ที่อยู่เมืองศรีสัตนาคุนหุต ได้นำเอาพระพุทธรูปที่สำคัญของเชียงใหม่หลายองค์ เช่นพระแก้วมรกต พระแก้วขาว พระพุทธสิหิงค์ ฯลฯ ไปบูชายังเมืองศรีสัตนาคุนหุต และย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เวียงจันทน์ ต่อมาเมื่อพม่าตีได้เมืองเชียงใหม่และเวียงจันทน์ จึงนำเอาพระแก้วขาวกลับมาไว้ที่วัดเชียงมั่นเหมือนเดิม เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเสด็จประพาสเมืองเชียงใหม่ ได้โปรดพระราชทานทองกาไหล่(เงินชุบทอง)  หุ้มพระเศียรและฐานของพระแก้วขาวให้สูงขึ้นอีก พระแก้วขาวจัดเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นหลัง (ศิลปล้านนา)

พระศิลาปางทรมานช้างนาฬาคีรี
                                 เป็นพระพุทธรูปที่ทำด้วยหินชนวนสีดำ ฝีมือสกุลช่างปาละของอินเดีย (พุทธศตวรรษที่ 13 – 18) แกะสลักตามคติเดิมของอินเดีย เป็นพระพุทธรูปปางหนึ่งแสดงตอนที่ทรงแผ่เมตตาให้กับช้างนาฬาคีรีที่กำลังเมามันจะเข้ามาทำร้ายพระองค์ มีผู้สันนิษฐานว่า พระภิกษุชาวลังกาเป็นผู้นำเข้ามาถวายพญาเม็งราย พญาเม็งรายจึงโปรดให้ประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ ราชกุฏาคาร วัดโชติการาม สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ลำดับที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้น่าจะสร้างในปี พ.ศ. 1934 วัดเจดีย์หลวงเป็นพระอารามหลวงแบบโบราณ มีการบูรณะมาหลายสมัย โดยเฉพาะพระเจดีย์ ที่ปัจจุบันมีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเชียงใหม่ วัดเจดีย์หลวงสร้างอยู่กลางใจเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนา ตั้งอยู่เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ภายในวัดประมาณ 32 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา

จุลศักราช 289 (พ.ศ. 1874) พระเจ้าแสนภู โปรดให้สร้างเมืองเชียงแสน และต่อมาอีก 4 ปีทรงสร้างมหาวิหารขึ้นในท่ามกลางเมืองเชียงแสน [2] คือวัดเจดีย์หลวงองค์ที่ 1 ซึ่งอยู่ในวัดพระเจ้าตนหลวง เมืองเชียงแสน สมัยพระเจ้าแสนเมืองมาซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากือนา ขณะที่มีพระชนมมายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็ทรงสวรรคต พระราชินีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ

ปี พ.ศ. 2055 พระราชา (พระเมืองแก้ว) พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลาย เอาเงินมาทำกำแพงล้อมพระธาตุเจดีย์หลวง 3 ชั้นได้เงิน 254 กิโลกรัม จากนั้นจึงได้เอาเงินมาแลกเป็นทองคำจำนวน 30 กิโลกรัม แล้วแผ่เป็นแผ่นทึบหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์หลวง เมื่อรวมกับทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์หลวงอยู่เดิม ได้น้ำหนักทองคำถึง 2,382.517 กิโลกรัม

ประมาณ พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิระประภามหาเทวี ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ จึงทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงจึงถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี กระทั่งปี พ.ศ. 2423 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง

ช่วงปี พ.ศ. 2471-2481 สมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ถือได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการบูรณะครั้งสำคัญของวัดพระเจดีย์หลวง ได้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคุลมโบราณสถานต่างๆ ออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนขึ้นใหม่ให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมา

พระเจดีย์หลวง ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ใช้งบประมาณในการบูรณะถึง 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535
แต่เดิมวัดเจดีย์หลวง ชื่อ “โชติการามวิหาร” แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ส่งสมณะทูต 8 รูป ภายใต้การนำพระโสณะ และ พระอุตตะระ เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเขตสุวรรณภูมิ รวมทั้งภูมิภาคนี้ด้วย ได้นำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์องค์เล็กสูง 3 ศอก ที่สร้างขึ้น ณ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์หลวงในปัจจุบัน ในเวลานั้นมีมีชายผู้หนึ่ง อายุ 120 ปี มีใจเลื่อมใส ได้แก้เอาผ้าห่มชุบน้ำมันจุดบูชา และได้ทำนายว่า ต่อไปในภายภาคหน้า ตรงนี้จะเป็นอารามใหญ่ชื่อโชติการาม พวกลัวะทั้งหลายเอาข้าวของบูชาพระธาตุพระพุทธเจ้า จึงก่อเจดีย์หลังหนึ่งสูง 3 ศอกไว้เป็นที่สักการบูชา



นอกจากนี้ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า “โชติการาม” คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏจะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว ดูแล้วมีความงดงามยิ่งนัก สามารถมองเห็นได้แต่ไกล

ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเจดีย์หลวง” เนื่องจากในภาษาเหนือ หรือคำเมือง หลวงแปลว่า “ใหญ่” หมายถึง พระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่

พระธาตุเจดีย์หลวง

พระธาตุเจดีย์หลวงนั้นถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความสูงที่สุดในภาคเหนือ หรือล้านนา คือ สูงประมาณ 80 เมตร เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร ถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ถือว่าเป็นเจดีย์ที่มีความสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่

พระธาตุเจดีย์หลวงนั้นถูกสร้างขึ้นในในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1928 - 1945) กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ซึงเป็นกษัตริย์ที่ปกครองเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้พญากือนา พระราชบิดา ซึ่งมีตำนานเล่ามาว่า พญากือนาซึ่งได้สวรรคตไปแล้ว ได้ปรากฏตัวแก่พ่อค้าชาวเชียงใหม่ที่เดินทางไปค้าขายที่พม่า ให้มาบอกว่าแก่พญาแสนเมืองมาผู้เป็นโอรสว่า ให้สร้างเจดีย์ไว้ท่ามกลางเวียง ให้สูงใหญ่พอให้คนที่อยู่ไกล 2000 วา สามารถมองเห็นได้ แล้วอุทิศบุญกุศลเหล่านนี้ให้แก่พญากือนา เพื่อให้พญากือนานั้นสามารถไปเกิดในเทวโลกได้ แต่พญาแสนเมืองมาเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระนางเจ้าติโลกจุฑาราชเทวีผู้เป็นมเหสีได้สืบทอด เจตนารมณ์สร้างต่อ จนเสร็จในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน ใช้เวลาสร้าง 5 ปี

ต่อมาได้มีการปฏิสังขรณ์ในสมัยพญาติโลกราช (พ.ศ. 1984 - 2030) พระองค์โปรดให้หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างใหญ่ทำการปฏิสังขรณ์ โดยมีพระมหาสวามีสัทธัมกิติ เจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดโชติการาม (วัดเจย์หลวง) เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมดูแล และประสานงาน การปฏิรูปและก่อสร้างครั้งนี้ได้สร้างขยายเจดีย์ให้ใหญ่กว่าเดิม ใช้เวลาในการก่อสร้าง 3 ปี จึงแล้วเสร็จ

ในสมัยมหาเทวีจิรประภา รัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย เกิดพายุฝนตกหนัก แผ่นดินไหว พระมหาเจดีย์หลวงได้พังทลายลงมาเหลือเพียงครึ่งองค์ จากนั้นก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไปนานกว่า 4 ศตวรรษ พระมหาเจดีย์หลวงที่เห็นปัจจุบันกรมศิลปกรเพิ่งจะ บูรณปฏิสังขรณ์เสร็จไปเมื่อ พ.ศ. 2535